มารู้จักของหวานและวากาชิ (ขนมญี่ปุ่น) ที่มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นกัน - ที่มา ส่วนผสม ประเภท และวิธีการรับประทานโดยละเอียด!

วากาชิ (和菓子 / Wagashi) หมายถึง ขนมญี่ปุ่น มาจากคำว่า วะ (和 = ภาษาญี่ปุ่น) และ คาชิ (菓子 = ขนม) ขนมญี่ปุ่นหลากหลายรูปแบบที่มีสีสันสดใสนั้นสื่อถึงฤดูต่างๆ เช่น ดอกซากุระในฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ขนมเหล่านี้มีที่มาอย่างไร? ทำจากอะไร? กินอย่างไรให้อร่อย? เราจะมาตอบคำถามเกี่ยวกับขนมญี่ปุ่นทีละข้ออย่างละเอียดกันค่ะ

ที่มาและประวัติของวากาชิ

กล่าวกันว่าขนมญี่ปุ่นวากาชิมีต้นกำเนิดในสมัยโจมงเมื่อหลายพันปีก่อน โดยวากาชิอย่างแรกคือ โมจิ ว่ากันว่าคนสมัยก่อนนำถั่วและผลไม้เปลือกแข็งต่างๆ มาตากแห้งและเก็บรักษาไว้ หลังจากนั้นก็นำไปบดเป็นผงเพื่อขจัดความขม จากนั้นก็ปั้นให้เป็นก้อนกลม และนำไปอุ่นเพื่อทำโมจิค่ะ นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับโมจิหลงเหลืออยู่ในหนังสือเก่าจากปี ค.ศ. 934 อีกด้วย กล่าวกันว่าโมจิถูกทำขึ้นเพื่อถวายแก่เทพเจ้าโดยใช้ข้าวซึ่งมีราคาแพงในสมัยนั้น และถูกให้ความสำคัญราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก นี่คือต้นกำเนิดของ "โมจิ" ซึ่งว่ากันว่าเป็นอาหารแปรรูปที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นค่ะ

หลังจากนั้น วิธีการผลิตและเทคนิคในการทำวากาชิก็ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้อิทธิพลของการแลกเปลี่ยนกับอาณาจักรถัง (ปัจจุบันคือประเทศจีน) และวัฒนธรรมพิธีชงชา เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้มีการปรับปรุงเทคนิคการแปรรูปต่างๆ และนำวัตถุดิบต่างๆ มาใช้ ทำให้เกิดวากาชิที่มีคุณภาพสูงและสวยงาม

นอกจากนี้ ว่ากันว่าที่มาของคำว่า "คาชิ" (菓子 - ขนม) ในภาษาญี่ปุ่นนั้นมาจากการที่คนสมัยโบราณนำ "ถั่ว" และ "ผลไม้" มารับประทานเมื่อรู้สึกหิวเนื่องจากมีอาหารไม่เพียงพอในสมัยนั้นค่ะ ดังนั้น ความหวานของผลไม้จึงมีความพิเศษมากสำหรับคนโบราณในสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร ทำให้ถูกแบ่งแยกจากอาหารหลักมากตั้งแต่สมัยโบราณค่ะ

ส่วนผสมที่นิยมใช้ทำวากาชิ

ส่วนผสมที่นิยมใช้ในขนมญี่ปุ่นคือ อังโกะ (ถั่วกวน) ซึ่งจะนำถั่วมากวน และเพิ่มรสหวานลงไปค่ะ และในบรรดาถั่วประเภทต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบของอังโกะนั้น "ถั่วอะซูกิ (ถั่วแดงอะซูกิ)" ก็ถือว่าเป็นวัตถุดิบที่ขาดไม่ได้เมื่อพูดถึงวากาชิค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมอื่นๆ ที่มักถูกใช้ในการนำวากาชิ เช่น ข้าวเหนียว ธัญพืชต่างๆ และวุ้นคันเต็นซึ่งจะมีเนื้อแน่นเมื่อนำไปต้มให้ละลายและทำให้แข็งตัว

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากขนมญี่ปุ่นมักมีรูปทรงและใช้ส่วนผสมที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลทั้งสี่ของญี่ปุ่น ดังนั้นจึงมักใช้ผลไม้ตามฤดูกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาลัดและลูกพลับค่ะ นอกจากนี้ยังมักจะเลียนแบบรูปทรงของลูกพีช ลูกแพร์ ส้มแมนดาริน และพลัม หรือใช้ประโยชน์จากกลิ่นหอมของวัตถุดิบด้วยค่ะ

ประเภทของวากาชิ

ต่อไปเราจะขอแนะนำประเภทของวากาชิกันค่ะ วากาชิสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ นามะกาชิ (生菓子 / namagashi - ขนมดิบ/ขนมสด) ฮังนามะกาชิ (半生菓子 / han-namagashi - ขนมกึ่งดิบ/กึ่งสด) และฮิกาชิ (干菓子 / higashi - ขนมแห้ง) เราจะแนะนำขนมจาก 3 ประเภทนี้ที่มักพบในร้านขายของที่ระลึกและร้านขนมญี่ปุ่นค่ะ คุณอาจจะเคยเห็นหรือเคยรับประทานขนมเหล่านี้มาบ้างแล้วก็เป็นได้นะคะ

ประเภทของวากาชิ: โมจิ (餅)

นามะกาชิ (ขนมสด) ที่ทำจากข้าว เช่น ข้าวเหนียวและข้าวขาว รวมไปถึงแป้ง "เด็นปุน" ที่สกัดจากคุสุ (กวาวเครือญี่ปุ่น) หรือวาราบิ (ผักกูด) อีกด้วย เนื่องจากเนื้อแป้งที่หนุบหนับเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ทำให้มีสินค้าแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าตามฤดูกาลเช่น "คุสะโมจิ" และ "ซากุระโมจิ" ไปจนถึงขนมอย่าง "ไดฟุกุ" ซึ่งใช้อังโกะและส่วนผสมต่างๆ เป็นไส้ของโมจิ นอกจากนี้ยังมีขนมอย่าง "อุอิโระ" ซึ่งไม่มีการใส่อังโกะอีกด้วยค่ะ

ประเภทของวากาชิ: มันจู (饅頭)

“มันจู” หรือที่คนไทยเรียกว่าซาลาเปานั้น คือ ขนมที่นำไปนึ่งหรืออบหลังจากห่อไส้ด้วยแป้ง (生地 / kiji / คิจิ) ซึ่งทำจากการนวดแป้งสาลี แป้งข้าวเจ้า หรือแป้งโซบะ มันจูมี 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ มันจูอบ และมันจูนึ่งค่ะ

ประเภทของวากาชิ: โมนากะ (最中)

ขนมญี่ปุ่นที่นำอังโกะมาประกบด้วยฝาที่นำแป้งข้าวเหนียวบางๆ ไปใส่ลงในแม่พิมพ์ เนื่องจาก "โมนากะ" มีรูปร่างเหมือนสิ่งนำโชค ทำให้เป็นหนึ่งในวากาชิที่มักใช้ในการเฉลิมฉลองหรืออวยพรค่ะ

ประเภทของวากาชิ: โยกัง (羊羹)

โยกังมี 3 ประเภท ได้แก่ (1) "เนริโยกัง" (練りようかん / Neriyokan - โยกังนวด) ซึ่งนำถั่วแดงกวน น้ำตาล และวุ้นคันเต็นมาต้มและกวน หลังจากนั้นก็ใส่ในแม่พิมพ์ให้แข็งตัว (2) "มิซุโยกัง" (水ようかん / Mizuyokan - โยกังน้ำ) เป็นโยกังที่มีปริมาณน้ำเยอะกว่าโยกังนวด (3) "มุชิโยกัง" (蒸しようかん / Mushiyokan - โยกังนึ่ง) เป็นโยกังที่ไม่ใช้วุ้น โดยจะนำแป้งสาลีและผงแป้งกวาวเครือญี่ปุ่น (คุสุ) ไปผสมลงในถั่วกวน (อัง) หลังจากนั้นก็นำไปนึ่งและปล่อยให้แข็งตัว โยกังมักถูกใช้เป็นของขวัญสำหรับการเฉลิมฉลองค่ะ

ประเภทของวากาชิ: เซมเบ้ (せんべい)

นอกจากขนมหวานที่แนะนำไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังมีวากาชิรสเค็มอีกด้วยค่ะ “เซมเบ้” หรือข้าวเกรียบนั้น ทำมาจากข้าวขาวนึ่งที่ถูกทำให้เป็นแผ่นบางๆ แบนๆ โดยจะปรุงรสด้วยเกลือหรือโชยุ และนำไปอบหรือทอดค่ะ เซมเบ้ถือเป็นหนึ่งในขนมที่ทำมาจากข้าวขาว และขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียวจะเรียกว่า "อาราเระ" หรือ "โอคาคิ" ค่ะ

การจับคู่ความอร่อยของวากาชิและเครื่องดื่ม

วากาชิก็มีก็มีเครื่องดื่มที่เข้ากันอย่างลงตัว เช่นเดียวกับที่กาแฟรสขมที่เข้ากันได้ดีกับขนมอบรสหวาน หรือวิสกี้และไวน์แดงที่เข้ากันได้ดีกับช็อกโกแลตค่ะ ชาที่เข้ากันได้ดีกับวากาชิแต่ละประเภทนั้นจะแตกต่างกันไป นามากาชิ (ขนมดิบ) ที่หวานและเหนียวหนุบนั้นจะเข้ากันได้ดีกับชาญี่ปุ่นรสเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาเขียวมัทฉะและชาเขียวเกียวคุโระสุดหรูค่ะ!

ในทางกลับกัน เราขอแนะนำชาเขียวบันฉะที่มีกลิ่นหอมและรสชาติเข้มข้น เมื่อรับประทานข้าวเกรียบเซมเบ้และขนมอบที่มีรสโชยุเข้มข้นค่ะ!

สำหรับไดฟุกุ โอฮางิ และขนมโมจิชนิดต่างๆ ที่กินแล้วอิ่มท้องนั้นก็จะเข้ากันได้อย่างดีกับชาโฮจิ (ชาเขียวคั่ว) ชาซีลอนและชาอัสสัมที่มีความฝาดน้อยค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างค่ะสำหรับบทความนี้ อย่าลืมใช้บทความนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงเมื่อคุณไปเที่ยวญี่ปุ่นในครั้งต่อไป และลองเปรียบเทียบขนมญี่ปุ่นประเภทต่างๆ เมื่อมีโอกาสนะคะ!

แหล่งข้อมูล

ข้อมูลนี้มาจากบริษัท Fun Japan Communications จำกัด
อาจมีการปิดทำการ เปลี่ยนแปลงเวลาทำการ หรือระงับบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั่วคราว เป็นต้น โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดเข้าดูที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการหรือสอบถามกับสำนักงานโดยตรง


คุณอาจชอบ