เคล็ดลับการส่งท้ายปีเก่า (โทชิโกชิ) และไหว้พระไหว้เจ้ารับปีใหม่ (ฮัตสึโมเดะ) วิธีการใช้เวลาช่วงสิ้นปีเก่าและเข้าปีใหม่ในญี่ปุ่น

เมื่อหมดช่วงคริสต์มาสในญี่ปุ่นแล้ว จู่ๆ ทั้งเมืองก็กลายเป็นบรรยากาศส่งท้ายปีและขึ้นปีใหม่ ใครๆ ก็ต่างทำความสะอาดครั้งใหญ่ในช่วงสิ้นปี และยุ่งอยู่กับการเตรียมตัวสำหรับวันส่งท้ายปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่กันค่ะ คุณรู้จักธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงวันปีใหม่ของญี่ปุ่นมากแค่ไหนคะ? เช่น โซบะข้ามปี โซนิ อาหารรับปีใหม่โอะเซจิ การไหว้พระขอพรในวันปีใหม่ฮัตสึโมเดะ และเงินรับขวัญปีใหม่โอโตชิดามะ
วันนี้จะขอแนะนำธรรมเนียมปฏิบัติและอาหารรสเลิศที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นในช่วงวันหยุดปีใหม่ค่ะ

โอมิโซกะ (大晦日) และโชกัตสึซังกะนิจิ (正月三が日) คือ?

วันสุดท้ายของเดือนธันวาคมในญี่ปุ่นเรียกว่า "โอมิโซกะ" (大晦日 / oomisoka วันส่งท้ายปีเก่า) และเป็นวันที่เตรียมตัวสำหรับต้อนรับเทพเจ้าประจำปี หรือที่เรียกว่า โทชิงามิซามะค่ะ (年神様 / toshigamisama) ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 3 มกราคม เรียกว่า "โชกัตสึซังกะนิจิ" (正月三が日 / ปีใหม่สามวันแรก) โดยครอบครัวและญาติ ๆ จะมารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่ด้วยกันค่ะ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และร้านค้าหลายแห่งจะปิดให้บริการในช่วงสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ "เน็นมัตสึเน็นชิ" (年末年始 / nenmatsunenshi) ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม ถึง 3 มกราคม ดังนั้น หากคุณวางแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้ต้องระวังนะคะ

การเตรียมตัวข้ามปีในญี่ปุ่น วิธีการใช้เวลาในวันส่งท้ายปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่

เมื่อเข้าปลายเดือนธันวาคมในญี่ปุ่น มักจะมีการ "ทำความสะอาดครั้งใหญ่" ที่บ้านและที่ทำงาน เพื่อขจัดฝุ่นที่หมักหมมสะสมในระหว่างช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

ส่วนใหญ่จะมีการประดับเครื่องตกแต่งรับปีใหม่ เช่น "ชิเมนาวะ" (しめ縄 / shimenawa) และ "คาโดมัตสึ" (門松 / kadomatsu) โดยจะถูกนำมาประดับที่หน้าประตูหน้าบ้านเพื่อให้เทพเจ้าสามารถเดินทางมาที่บ้านได้โดยไม่หลงทางหรือลังเลค่ะ นอกจากนี้ ภายในบ้านยังมีการประดับ "คางามิโมจิ" (鏡餅 / kagamimochi) ซึ่งเป็นข้าวตำโมจิทรงกลมขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซ้อนกันเป็นขั้นบันไดและวางส้มแมนดารินไว้บนสุดเพื่อไหว้เทพเจ้าค่ะ

ชาวญี่ปุ่นหลายคนยังนิยมรับประทาน "โทชิโกชิโซบะ" (年越しそば / toshikoshisoba โซบะข้ามปี) ในวัน "โอมิโซกะ" วันที่ 31 ธันวาคมด้วยค่ะ

มีหลายทฤษฎีที่อธิบายว่าทำไมต้องกินโทชิโกชิโซบะในวันส่งท้ายปีเก่า ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีที่ว่าเส้นหมี่ยาวหมายถึง "อายุยืนยาว" หรือทฤษฎีที่ว่าเป็น "การตัดขาดจากภัยพิบัติที่จะเข้ามาในในปีนี้" เพราะว่าโซบะขาดง่ายกว่าเส้นชนิดอื่นค่ะ มักจะมีการวางเทมปุระกุ้งบนโทชิโกชิโซบะ เพราะว่ารูปร่างโค้งงอของกุ้งนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอายุยืนยาว เพราะว่าดูเหมือนกับรูปลักษณ์ของชายชราหลังค่อมค่ะ เมื่อสุกแล้วกุ้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงที่เชื่อกันว่าเป็นสีมงคล กุ้งจึงเป็นส่วนประกอบที่นิยมใช้ในอาหารปีใหม่ และนอกเหนือจากโทชิโกชิโซบะแล้ว ยังมักรับประทานในอาหารรับปีใหม่โอะเซจิอีกด้วยค่ะ

เมื่อพูดถึงกิจกรรมหลักในวันส่งท้ายปีเก่าแล้วก็ต้องนึกถึงการตีระฆังข้ามปี "โจยะโนะคาเนะ" (除夜の鐘 / joya no kane) ค่ะ! โจยะโนะคาเนะก็คือการตีระฆังวัดตอนเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม (วันโอมิโซกะ) คนญี่ปุ่นจำนวนมากจะกินโซบะโทชิโกชิแล้วมุ่งหน้าไปที่วัดเพื่อฟังเสียงระฆังกันค่ะ

โจยะโนะคาเนะเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางพุทธศาสนา พระสงฆ์จะตีระฆัง 108 ครั้ง โดยตัวเลขนี้มีความหมายคือจำนวนของ "กิเลส" (煩悩 / bonnou) ของผู้คนทั่วโลก ดังนั้น จึงเรียกการตีระฆังเพื่อกำจัดกิเลสนี้ว่า "โจยะโนะคาเนะ" ค่ะ (除夜の鐘 แปลว่า ระฆังแห่งคืนการชำระล้าง)

ฝันแรกของปี (ฮัตสึยูเมะ) พระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรก (ฮัตสึฮิโนะเดะ) และการไหว้พระขอพรในวันปีใหม่ (ฮัตสึโมเดะ)... คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสิ่ง "แรก" ในปีใหม่

ในญี่ปุ่นจะเรียกสิ่งแรกที่คุณทำในปีใหม่ว่า "ฮัตสึ●●" และถือเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ
ตัวอย่างเช่น "ฮัตสึฮิโนะเดะ" (初日の出 / Hatsu-hi-no-de พระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรก) ซึ่งเป็นการชมพระอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันแรกของปีใหม่ คนญี่ปุ่นบางคนถึงกับปีนขึ้นไปบนภูเขาสูงต่าง ๆ เช่น ภูเขาฟูจิ หรือปีนขึ้นไปบนเนินเขาเพื่อเฝ้ารอชมพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปีกันเลยค่ะ
หลังจากชมพระอาทิตย์ขึ้นในวันปีใหม่แล้ว ก็จะไปไหว้พระขอพรในวันปีใหม่ หรือที่เรียกว่า "ฮัตสึโมเดะ" (初詣 / Hatsu-moude) ค่ะ
นอกจากพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกและการสักการะครั้งแรกแล้ว ความฝันที่คุณเห็นเป็นครั้งแรกในปีใหม่จะเรียกว่า "ฮัตสึยูเมะ" (初夢 / Hatsu-yume) และการยิ้มครั้งแรกก็จะเรียกว่า "ฮัตสึวะระอิ" (初笑い / Hatsu-warai) เป็นต้นค่ะ

เมนูเด็ดเฉพาะช่วงสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่

ช่วง "โชกัตสึซังกะนิจิ" ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 3 มกราคม นอกจากคนญี่ปุ่นจะรับประทานอาหารตามธรรมเนียมแบบดั้งเดิมของปีใหม่ เช่น อาหารปีใหม่โอะเซจิกับโอโซนิแล้ว ยังทำกิจกรรมและเล่นเกมปีใหม่ เช่น ฟุคุวะระอิ (福笑い / fukuwarai การติดหน้าโอฟุคุโดยหลับตา) และไพ่คารุตะ (かるた / karuta) หรือเล่นว่าว เพื่อสร้างความกลมเกลียวกันในครอบครัวอีกด้วยค่ะ

ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ถึงแม้ครอบครัวส่วนใหญ่จะกินโทชิโกชิโซบะในวันโอมิโซกะก็ตาม แต่เครื่องที่นำมากินด้วยกันจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค เช่น กุ้งหรือปลาเฮอริ่ง เป็นต้นค่ะ

เมื่อพูดถึงอาหารเทศกาลกินในวันปีใหม่ก็ต้องนึกถึงอาหารปีใหม่ "โอะเซจิเรียวริ" (おせち料理 / osechi-ryouri)
โอะเซจิเรียวริ คือ กล่องอาหารแบบซ้อนเรียงเป็นชั้นที่เรียกว่า จูบาโกะ (重箱 / juubako) เหมือนเป็นอาหารไคเซกิในรูปแบบกล่องเบนโตะค่ะ ในกล่องจะเต็มไปด้วยกับข้าวแบบต่างๆ เช่น ถั่วดำ ไข่ปลาเฮอริ่งที่เรียกว่า "คาซูโนโกะ" (数の子 / kazunoko) กุ้งย่าง หัวไชเท้ากับแครอทดองที่เรียกว่า "โคฮาคุนามาสุ" (紅白なます / kouhakunamasu) ไข่ม้วนแบบดาเตะมากิ (伊達巻 / datemaki) และส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ใส่ความปรารถนาขอให้มีอายุยืนยาวและปราศจากโรคภัยค่ะ
*ไข่ผสมปลากะพงนำไปอบแล้วม้วน

อีกเมนูที่นิยมสำหรับปีใหม่เรียกว่า "โอโซนิ" (お雑煮 / ozouni) ซึ่งเป็นซุปที่ทำจากหัวไชเท้า แครอท กับปลาและหอยต่าง ๆ ตามภูมิภาค เคี่ยวในมิโสะหรือโชยุค่ะ
ซุปและส่วนผสมของโซนิแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ถึงแม้ว่าโอโซนิหลายสูตรทั่วประเทศจะใส่โมจิเหมือนกันก็ตาม แต่ประเภทของโมจิจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคอีกค่ะ เช่น มีพื้นที่ที่ใส่โมจิแบบสี่เหลี่ยม โมจิแบบทรงกลม ไปจนถึงอังโกะโมจิ (โมจิใส่ถั่วแดง) ด้วยค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มที่แสดงถึงช่วงปีใหม่อีกด้วย โอโทโสะ (屠蘇 / Toso) เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่มักจะดื่มกันในช่วงปีใหม่เพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้ายที่สะสมมาเป็นปีออกไป และดื่มอวยพรให้อายุยืนยาวกันค่ะ

"อะมาซาเกะ" (甘酒 / Ama-zake) เป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มปีใหม่ที่พบตามในวัด ทำจากข้าวและหัวยีสต์โคจิ* ในช่วงวันปีใหม่มีอาหารอร่อยมากมาย ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนจะอ้วนขึ้นกันเร็วในช่วงหยุดยาวฤดูหนาว (หยุดปีใหม่) ค่ะ
*อาหารหมักดองแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น

คุณสามารถเพลิดเพลินกับอาหารปีใหม่ได้อย่างง่ายดายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ!

หากคุณจะเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงปีใหม่ ลองแวะไปที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อดูนะคะ
ถึงแม้ว่าอาหารโอะเซจิในกล่องจูบาโกะจะหาซื้อได้ยากในวันปีใหม่ เนื่องจากมักจะต้องจองล่วงหน้า แต่เครื่องประกอบต่าง ๆ ในโอะเซจิอย่างถั่วดำ ดาเตะมากิ และลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ ก็มีจำหน่ายแยกต่างหากที่ซูเปอร์มาร์เก็ตค่ะ เลือกซื้อเฉพาะสิ่งที่อยากกิน และนำไปกินที่โรงแรมก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีในการเพลิดเพลินกับปีใหม่สุดพิเศษได้ด้วยเหมือนกันค่ะ

นอกจากนี้ ที่ญี่ปุ่นยังมีธรรมเนียมที่ผู้ใหญ่ เช่น พ่อแม่ และญาติ จะให้ "โอะโทชิดามะ" (お年玉 / otoshidama) กับเด็ก ๆ ด้วยค่ะ โอะโทชิดามะ คือ เป็นธรรมเนียมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานโดยเป็นการให้เงินค่าขนมโดยจะใส่เงินลงไปในซองของขวัญปีใหม่ที่เรียกว่า โอโทชิบุคุโระ (年玉袋 / otoshibukuro)
ดังนั้น ร้านเครื่องเขียนและร้านสะดวกซื้อจึงขายซองจดหมายสีแดงน่ารักมากมายพร้อมตัวการ์ตูนยอดนิยมในช่วงเวลานี้ของปี ขอแนะนำให้ซื้อเป็นของที่ระลึกสำหรับการเดินทางไปญี่ปุ่นเที่ยวในช่วงเวลาพิเศษนี้ค่ะ

แหล่งข้อมูล

ข้อมูลนี้มาจากบริษัท Fun Japan Communications จำกัด
อาจมีการปิดทำการ เปลี่ยนแปลงเวลาทำการ หรือระงับบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั่วคราว เป็นต้น โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า,
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดเข้าดูที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการหรือสอบถามกับสำนักงานโดยตรง53873


คุณอาจชอบ