มารยาทในการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่น ตั้งแต่มารยาทพื้นฐานที่ต้องรู้ไปจนถึงวิธีการใช้ตะเกียบ

มารยาทบนโต๊ะอาหารมีความสำคัญในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยความสุภาพและการแสดงความขอบคุณถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ อาหารญี่ปุ่นที่รู้จักกันในนาม "วะโชคุ (อาหารญี่ปุ่น)" ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก นอกจากวะโชคุจะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานแล้ว ยังมีกฎและมารยาทเฉพาะตัวแบบดั้งเดิมอีกด้วย

ในครั้งนี้เราจะแนะนำพื้นฐานของมารยาทในการรับประทานอาหารญี่ปุ่น และจุดสำคัญที่ชาวต่างชาติควรทราบเมื่อไปรับประทานอาหารในญี่ปุ่นกันค่ะ

ก่อนรับประทานอาหารพูดว่า "อิทาดาคิมัส" และหลังจากรับประทานอาหารพูดว่า "โกะจิโซซามะเดชิตะ"

ก่อนเริ่มทานอาหารคนญี่ปุ่นจะพูดว่า "อิทาดาคิมัส" และหลังจากทานอาหารเสร็จก็จะพนมมือและพูดว่า "โกะจิโซซามะเดชิตะ" ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือในร้านอาหาร

"อิทาดาคิมัส" เป็นคำแสดงความขอบคุณต่อพระเจ้าและผู้ที่เตรียมอาหาร คำนี้มีความสำคัญมากในวัฒนธรรมญี่ปุ่นและยังเป็นการแสดงความขอบคุณต่อผู้อื่นและธรรมชาติในระหว่างการทานอาหารด้วยค่ะ
ส่วนคำว่า "โกะจิโซซามะเดชิตะ" มักจะพูดหลังทานอาหารเสร็จเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่เตรียมอาหาร นอกจากนี้ ยังใช้พูดเมื่อมีคนเลี้ยงอาหารด้วยค่ะ

ทำไมคนญี่ปุ่นใช้ตะเกียบแทนช้อนส้อม?

ส่วนใหญ่คนญี่ปุ่นใช้ตะเกียบแทนช้อนส้อมเมื่อรับประทานอาหาร เมื่อนึกย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ก็จะมีทฤษฎีต่างๆ ที่อธิบายเกี่ยวกับการใช้ตะเกียบค่ะ ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าทฤษฎีไหนถูกต้องก็ตาม แต่ว่ากันว่ามีการใช้ตะเกียบมาตั้งแต่สมัยยาโยอิค่ะ (ยุคก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 8 ถึงยุคหลักคริสต์ศตวรรษที่ 3) ในยุคนั้นพระราชินีฮิมิโกะเป็นผู้ปกครองประเทศยามะไท (ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะญี่ปุ่น) ในยุคนั้นตะเกียบไม่ได้ใช้สำหรับการทานอาหาร แต่ใช้เพื่อถวายอาหารให้แก่เทพเจ้า ตะเกียบในยุคนั้นทำด้วยการหักไม้ไผ่ออกเป็นสองส่วนคล้ายกับคีมหรือที่คีบค่ะ

ผู้คนเริ่มใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารตั้งแต่สมัยอาสุกะประมาณ 1400 ปีที่แล้ว โอโนะโนะอิโมโกะได้นำวัฒนธรรมจีนกลับมายังญี่ปุ่นเมื่อเขาไปเยี่ยมเยือนราชวงศ์ซุยในฐานะทูตค่ะ (ราชวงศ์ของประเทศจีนในสมัยนั้น) ประเทศจีนมีวัฒนธรรมในการรับประทานข้าวด้วยตะเกียบตั้งแต่สมัยนั้น ดังนั้น เจ้าชายโชโทคุซึ่งเป็นสมาชิกในราชวงศ์จึงได้นำวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารด้วยตะเกียบมาเผยแพร่ในพระราชวังหลวง และว่ากันว่าการใช้ตะเกียบได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วประเทศญี่ปุ่นหลังจากยุคสมัยนี้ค่ะ ในสมัยนั้นจะนิยมทำตะเกียบจากไม้ไผ่ ไม่ใช่ตะเกียบที่ทำจากไม้แบบในปัจจุบันค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีอื่นๆ เขียนไว้ใน "โคะจิกิ" ซึ่งเป็นหนังสือที่เก่าที่สุดของญี่ปุ่น และ "นิฮงโชกิ" พงศาวดารญี่ปุ่นค่ะ มีตำนานว่าระหว่างที่เทพสุซาโนะโอะโนะมิโคโตะกำลังชมแม่น้ำอยู่ก็เห็นตะเกียบลอยมาบนแม่น้ำ จึงว่ากันว่ามีตะเกียบอยู่ในญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว หลังจากนั้นการทานอาหารด้วยตะเกียบก็เป็นที่แพร่หลายในบรรดาคนญี่ปุ่นในสมัยเฮอันค่ะ

การใช้ตะเกียบอย่างถูกต้อง

ร้านอาหารในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีตะเกียบให้ในร้าน และยังมีกฎในการใช้ตะเกียบด้วยค่ะ กล่าวกันว่ากฎพื้นฐานในการใช้ตะเกียบคือให้ใช้ส่วนปลาย 1.5 ถึง 3 ซม. ของตะเกียบหนีบอาหาร และทานโดยไม่ทำให้ตะเกียบเลอะเทอะมากเกินไป แต่ในปัจจุบัน กล่าวกันว่าสามารถใช้ส่วนปลายของตะเกียบได้ถึง 4 ซม. ค่ะ

เมื่อจับตะเกียบ ให้จับด้วยมือขวาก่อน และค่อยใช้มือซ้ายปรับตำแหน่งตะเกียบในมือขวา การปรับตำแหน่งของตะเกียบที่ถือด้วยมือขวาให้ถูกต้องนั้นเรียกว่า "มิเทะ" และถือว่าเป็นกิริยาที่สวยงามค่ะ

มาเพลิดเพลินไปกับการรับประทานอาหารที่ร้านอาหารระหว่างทริปเที่ยวญี่ปุ่น และอย่าลืมเรื่องมารยาทด้วยนะคะ

นอกจากนี้ ถ้าหากใช้ที่วางตะเกียบเมื่อใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารก็จะทำให้ดูสวยงามมากขึ้นด้วยค่ะ การซื้อ "ชุดตะเกียบและที่วางตะเกียบ" เป็นของที่ระลึกจากญี่ปุ่นอาจจะเป็นไอเดียที่ดีนะคะ

วิธีการใช้ "โอะชิโบริ" ที่ถูกต้อง

เมื่อคุณเข้ามาในร้านอาหารญี่ปุ่น คุณจะได้รับน้ำ (หรือชา) และ "โอชิโบริ" คุณทราบไหมว่าทำไมมี "โอชิโบริ" คะ?

ผ้าขนหนูที่ทำจากผ้าฝ้ายเริ่มเป็นที่นิยมในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603-1867) โดยจุดเริ่มต้นของโอะชิโบริมาจากการที่ โรงเตี้ยม "ฮาตาโงะ" ได้วางถังน้ำและผ้าขนหนูไว้ให้นักเดินทางที่มาเข้าพักไว้ที่ประตูด้านหน้าโรงเตี้ยมเพื่อใช้ทำความสะอาดมือและเท้าที่สกปรกจากการเดินทาง

โอะชิโบริถือกำเนิดขึ้นมาเนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีภูมิอากาศที่ร้อนชื้นเพราะว่าถูกล้อมรอบด้วยทะเลทำให้เหงื่อออกง่าย นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังรักความสะอาดอย่างมากอีกด้วย กล่าวกันว่าคำว่า "โอชิโบริ" มาจากคำว่า "ชิโบรุ" ซึ่งหมายความว่าการบีบหรือบิดผ้าขนหนูที่เปียกเพื่อใช้เช็ดทำความสะอาดมือและเท้าที่สกปรกในสมัยเอโดะค่ะ

ในปัจจุบัน โอชิโบริได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีมารยาทและวิธีการใช้โอชิโบริเมื่อมีโอะชิโบริให้ใช้ที่ร้านอาหารหรือร้านเหล้าอิซากายะด้วยค่ะ

เมื่อมีโอะชิโบริวางไว้บนโต๊ะเมื่อมาถึงร้าน
1. กางโอชิโบริออก
2. เช็ดมือทั้งสองข้างอย่างระมัดระวัง
3. พับโอะชิโบริอย่างระมัดระวัง และวางไว้ที่ตำแหน่งเดิม
เมื่อพนักงานส่งโอะชิโบริให้ด้วยมือ
1. พูดว่า "อาริงาโตะ (ขอบคุณ)" และยื่นมือขวาไปรับ
2. นำมาเช็ดมือทั้งสองข้างอย่างระมัดระวัง
3. พับโอะชิโบริอย่างระมัดระวัง และวางไว้ที่ตำแหน่งเดิม
เมื่อได้รับโอะชิโบริแบบใช้แล้วทิ้ง
1. ฉีกมุมของถุง และดึงโอชิโบริออกมาจากห่อ พับถุงอย่างระมัดระวัง และวางไว้บนโต๊ะหรือขอให้พนักงานนำเอาไปทิ้งให้
2. กางโอชิโบริด้วยมือทั้งสองข้างและเช็ดมืออย่างระมัดระวัง
3. พับโอชิโบริอย่างระมัดระวังและวางไว้บนโต๊ะ

หากทำอะไรหกหรือเปื้อน กรุณาเรียกพนักงานและขอผ้าเช็ดต่างหาก โดยปกติแล้วจะไม่เช็ดด้วยโอะชิโบริค่ะ

"การกินอาหารให้หมดจาน" เป็นมารยาทพื้นฐานของญี่ปุ่น

การกินข้าวและกับข้าวให้หมดจานถือเป็นมารยาทพื้นฐานบนโต๊ะอาหารของคนญี่ปุ่นค่ะ การทานอาหารให้หมดจานถือเป็นการแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่ทำอาหารและวัตถุดิบที่ใช้ด้วยค่ะ

หากคุณแพ้อาหารหรือมีอาหารบางอย่างที่ไม่สามารถทานได้ คุณสามารถตรวจสอบวัตถุดิบที่ใช้ที่ร้านอาหารก่อนทำการสั่งอาหารได้ค่ะ เพียงแค่นี้คุณก็จะสามารถทานอาหารให้หมดจานได้โดยไม่เหลืออะไรทิ้งค่ะ

การทานอาหารให้หมดจานโดยไม่เหลืออะไรทิ้งเป็นวิธีการแสดงความขอบคุณต่อผู้ที่เตรียมอาหารให้ และยังเป็นการบอกว่าอาหารอร่อยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าปริมาณอาหารเยอะกว่าที่คิดหรือว่าคุณรู้สึกอิ่มและไม่สามารถทานให้หมดได้แล้ว ก็สามารถเหลือไว้ได้เล็กน้อยค่ะ

ความแตกต่างทางวัฒนธรรม: การส่งเสียงเมื่อทานอาหารจำพวกเส้น

คุณเคยเห็นคนญี่ปุ่นทำเสียง "ซูด" ขณะกินราเมงหรืออุด้งในญี่ปุ่นไหมคะ? ถึงแม้ว่าการส่งเสียงขณะทานอาหารจะถือว่าเป็นมารยาทที่ไม่ดีในบางประเทศก็ตาม แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ถือว่าเป็นมารยานที่ไม่ดีค่ะ การส่งเสียงนี้มีความเกี่ยวข้องกับ "วัฒนธรรม" และ "ประเพณี" ของญี่ปุ่น เนื่องจากการส่งเสียงเป็นการแสดง "ความเคารพต่อผู้ที่ทำอาหาร" ค่ะ

อย่างไรก็ตาม อาหารที่คุณสามารถส่งเสียงระหว่างทานที่ญี่ปุ่นได้มีแค่อาหารจำพวกเส้นหรือซุปเท่านั้นค่ะ

บทความนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ? หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณเมื่อไปรับประทานอาหารกับคนญี่ปุ่น หรือแวะไปร้านอาหารและร้านเหล้าอิซากายะระหว่างเที่ยวญี่ปุ่นนะคะ

แหล่งข้อมูล

ข้อมูลนี้มาจากบริษัท Fun Japan Communications จำกัด
อาจมีการปิดทำการ เปลี่ยนแปลงเวลาทำการ หรือระงับบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั่วคราว เป็นต้น โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดเข้าดูที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการหรือสอบถามกับสำนักงานโดยตรง


คุณอาจชอบ