[วัฒนธรรมญี่ปุ่น] วันที่ 23 กุมภาพันธ์คือวันอะไร? ที่มาและกิจกรรมใน "วันฟูจิซัง"

ภูเขาฟูจิเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น เมื่อพูดถึงสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นแล้ว หลายคนอาจนึกถึงเป็นอันดับแรกค่ะ ภูเขาฟูจิไม่ได้เป็นเพียงแค่ภูเขาสูง 3,776 เมตร ในจังหวัดยามานาชิและจังหวัดชิซุโอกะที่สูงที่สุดในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในหลายบริบทค่ะ ในบทความนี้ เราจะแนะนำเรื่องราวที่เกี่ยวกับ "วันฟูจิซัง" ซึ่งถูกกำหนดเป็นวันที่ระลึกสำหรับภูเขาฟูจิค่ะa

ภูเขาฟูจิเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ภูเขาฟูจิถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2013 ในนาม "ภูเขาฟูจิ -สถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งกำเนิดของศิลปะ" ภูเขาฟูจิได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ศิลปินหลายคนและถูกวาดเป็นสัญลักษณ์ในผลงานศิลปะยอดเยี่ยมมากมายตามชื่อ "แหล่งกำเนิดของศิลปะ" เลยค่ะ

ภูเขาฟูจิในภาพอุกิโยะ

ตัวอย่างเช่น ซีรีส์ "สามสิบหกมุมมองของภูเขาฟูจิ" (富嶽三十六景 / Fuji Sanjurokkei) โดย คัตสึชิกะ โฮคุไซ ซึ่งเป็นภาพวาดอุกิโยเอะในสมัยเอโดะที่มีชื่อเสียงมาก ภาพของภูเขาฟูจิที่มองเห็นจากทะเลที่มีคลื่นขาวลูกใหญ่ (神奈川沖浪裏 / Kangawa Oki Namiura- "คลื่นใหญ่นอกชายฝั่งคานากาวะ") และภาพของภูเขาฟูจิที่สะท้อนแสงเป็นสีแดง (凱風快晴 / Gaifukaisei - "ลมสดใส ฟ้าแจ่มใส") จะต้องเป็นภาพที่ใครๆ ที่เคยสัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นต้องเคยเห็นอย่างน้อยสักครั้งค่ะ

ภูเขาฟูจิในวรรณกรรมญี่ปุ่น

ไม่เพียงแค่ในงานศิลปะเท่านั้น แต่ภูเขาฟูจิยังถูกพรรณนาถึงอย่างบ่อยครั้งในงานวรรณกรรมด้วย ตัวอย่างเช่น นิทานที่รู้จักกันในชื่อ "เจ้าหญิงคางุยะ" ในยุคสมัยใหม่นั้น มีแนวคิดมาจากนิทาน "ตำนานคนตัดไผ่" ซึ่งมีภูเขาฟูจิปรากฏในช่วงสุดท้ายค่ะ นอกจากนี้ ดาไซ โอซามุ ซึ่งเป็นนักเขียนนวนิยายก็ได้เขียนเรื่องสั้นที่เรียกว่า "หนึ่งร้อยมุมมองของภูเขาฟูจิ" (富嶽百景 / Fugaku Hyakkei) อีกด้วยค่ะ

ภูเขาฟูจิที่อยู่ทั่วญี่ปุ่น

(c) Tottori Pref

จังหวัดต่างๆ ในญี่ปุ่นมีธรรมเนียมที่จะเรียกภูเขาที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศว่า "〇〇ฟูจิ" ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "ฟูจิบ้านเกิด หรือ ฟุรุซาโตะฟูจิ" ค่ะ ตัวอย่างเช่น ภูเขาไดเซ็น ซึ่งตั้งสูงตระหง่านในจังหวัดทตโตริซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า "โฮคิฟูจิ" ตามชื่อ โฮคิ (伯耆 / Hoki) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของจังหวัดทตโตริค่ะ

ภูเขาฟูจิบนธนบัตร

ในปัจจุบัน ภูเขาฟูจิซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมยังมาปรากฏบนสิ่งที่ทุกคนที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นจะต้องเคยเห็นอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต ซึ่งก็คือบนธนบัตรญี่ปุ่นนั่นเองค่ะ ตัวอย่างเช่น ด้านหลังของธนบัตร 1,000 เยน ซึ่งมีการใช้งานตั้งแต่ปี 2004 (มีภาพเหมือนของนายแพทย์ โนงุจิ ฮิเดโยะในด้านหน้า และพิมพ์ด้วยสีน้ำเงิน) จะมีภาพวาดของภูเขาฟูจิอยู่ด้วยค่ะ นอกจากนี้ ด้านหลังของธนบัตร 1,000 เยนรุ่นใหม่ที่ถูกเริ่มนำมาใช้ในปี 2024 ก็ยังคงถูกออกแบบให้มีภาพวาดของภูเขาฟูจิ (ภาพภูเขาฟูจิที่ถูกวาดใน "สามสิบหกมุมมองของภูเขาฟูจิ" โดย คัตสึชิกะ โฮคุไซ)

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ คือ "วันฟูจิซัง"

คุณทราบหรือไม่ว่าในประเทศญี่ปุ่นมีการกำหนด "วันฟูจิซัง" ด้วย วันที่ระลึกนี้ถูกจัดตั้งโดย "ระเบียบเกี่ยวกับวันฟูจิซังของจังหวัดชิซุโอกะ" ซึ่งถูกประกาศโดยจังหวัดชิซุโอกะในปี 2009 และ "ระเบียบเกี่ยวกับวันฟูจิซังของจังหวัดยามานาชิ" ซึ่งถูกประกาศโดยจังหวัดยามานาชิในปี 2011 โดยทั้งสองระเบียบได้กำหนด "วันฟูจิซัง" ให้เป็น "วันที่ 23 กุมภาพันธ์"

นอกจากจังหวัดทั้งสองนี้แล้วก็ยังมี "วันฟูจิซัง" ที่ถูกจัดตั้งโดยองค์กรอื่นๆ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์เช่นเดียวกันอีกด้วย สมาคมญี่ปุ่นวันสำคัญญี่ปุ่นระบุว่าองค์กรที่ชื่อว่า "ฟอรัมทิวทัศน์ภูเขาและแผนที่ (FYAMAP)" ซึ่งทำกิจกรรมที่มีธีมเกี่ยวกับภูเขาฟูจิ เช่น รายงานการมองเห็นภูเขาฟูจิทั่วประเทศผ่านออนไลน์ ได้กำหนดวันที่ 23 กุมภาพันธ์เป็น "วันฟูจิซัง" โดยมีที่มาจากการเล่นคำที่อ่านเลข "2" และ "23" เป็น "ฟูจิซัง" ในภาษาญี่ปุ่น และเนื่องจากสามารถชมภูเขาฟูจิได้ดีในช่วงเวลาด้วยนี้ค่ะ

เราจะอธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยเกี่ยวกับการอ่านตัวเลข 223 ในภาษาญี่ปุ่นซึ่งตรงกับในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ให้เป็นคำว่า "ฟูจิซัง" นะคะ ภาษาญี่ปุ่นมีการเล่นคำ (ด้วยตัวเลข) ที่เรียกว่า "โกโระอาวาเสะ" (語呂合わせ / Goroawase) ซึ่งกำหนดเสียงตัวอักษรญี่ปุ่นให้กับตัวเลขตั้งแต่ 0 ถึง 9 (หรือตัวเลขหลายหลัก เช่น 10 หรือ 100) และจะเชื่อมโยงตัวเลขกับเสียงตัวอักษรที่ถูกกำหนดให้กับตัวเลขแต่ละตัวค่ะ

ในกรณีของ 223 เลข 2 สามารถอ่านเป็น "นิ" "ฟุ" "จิ" "ซึ" และ 3 สามารถอ่านเป็น "มิ" "ซะ" "ซัง" ได้ ดังนั้น 223 จึงสามารถอ่านว่า "ฟุ" "จิ" "ซัง" ได้ค่ะ

นอกจากวันฟูจิซังแล้ว ยังมีวันครบรอบอื่นๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยการเล่นคำ "โกโระอาวาเสะ" นี้ และยังถูกนำไปใช้ในชั้นเรียนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนเพื่อให้นักเรียนจำปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ หรือใช้ตั้งรหัสผ่านเพื่อให้ง่ายต่อการจำอีกด้วยค่ะ การเล่นคำนี้เป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่นค่ะ

ข้อมูลเกี่ยวกับงาน "วันฟูจิซัง" ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์

จังหวัดชิซุโอกะและยามานาชิซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาฟูจิได้จัดงานเทศกาล "เฟสต้าวันฟูจิซัง" ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2023 และ 23 กุมภาพันธ์ 2024 เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีของการลงทะเบียนมรดกโลกในปี 2023 ค่ะ (วางแผนจะจัดงานในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025 ด้วย) ในงานปี 2023 ผู้ว่าราชการของทั้งจังหวัดชิซุโอกะและจังหวัดยามานาชิได้มาร่วมงานทั้งสองท่าน และมีการจัด "พิธีเริ่มต้นปีครบรอบ 10 ปีของการลงทะเบียนมรดกโลกภูเขาฟูจิ" และยังมีการแสดงละครด้วยค่ะ

นอกจากนี้ ศูนย์มรดกโลกภูเขาฟูจิจังหวัดยามานาชิและสถานที่อื่นๆ ยังทำการ "แจกข้าวปั้น 3,776 ลูกฟรีให้กับชุมชนท้องถิ่น ตามความสูง 3,776 เมตรของภูเขาฟูจิ" ในงานเทศกาล "เฟสต้า 'วัน' ฟูจิซัง" อีกด้วย (กรุณาตรวจสอบข้อมูลล่าสุดของปี 2025 จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ)

ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์มรดกโลกยังจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น "แรลลี่คำถามวันฟูจิซัง" และขาย "เครป △ ฟูจิยามะ" พิเศษเฉพาะที่ภูเขาฟูจิ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำ "เข็มกลัดฟูจิซัง" อีกด้วย

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ (ภาษาญี่ปุ่น) : https://fujisannohifest.com/

นอกจากภูเขาฟูจิแล้วยังมีวันครบรอบที่เกี่ยวข้องกับภูเขาอื่นๆ ด้วย - วันนักขัตฤกษ์ "วันภูเขา"

"วันฟูจิซัง" ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ระลึกซึ่งไม่บังคับให้เป็นวันหยุดราชการ แต่ในประเทศญี่ปุ่น ทุกวันที่ 11 สิงหาคมคือ "วันภูเขา" ซึ่งเป็นวันหยุดราชการตามมาตรา 2 ของ "พระราชบัญญัติวันหยุดประจำชาติ" ของญี่ปุ่นค่ะ วันภูเขาเป็นวันที่ให้ "ผู้คนมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับภูเขาและขอบคุณบุญคุณของภูเขา" นอกจากนี้ ในวันนี้จะยังมีการจัด "การประชุมวันภูเขาแห่งชาติ" ซึ่งถูกจัดขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2016 โดยมูลนิธิวันภูเขาแห่งชาติเพื่อ "เผยแพร่ความอุดมสมบูรณ์ของภูเขาที่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 70% ของประเทศญี่ปุ่น และการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เติบโตมากับภูเขาไปทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังแสดงความขอบคุณและส่งต่อประโยชน์ที่ได้จากภูเขาไปให้กับคนรุ่นหลังอีกด้วย" การประชุมครั้งที่ 8 ถูกจัดขึ้นที่โตเกียวในปี 2024 ค่ะ

ส่งท้าย: วิธีสนุกไปกับภูเขาฟูจิจากระยะไกล

หลังจากอ่านบทความนี้ คิดว่าทุกท่านคงเข้าใจว่าทำไมภูเขาฟูจิจึงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น และทำไมถึงมีวันที่ระลึกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ค่ะ ถึงแม้ว่าการเดินทางไปเที่ยวภูเขาฟูจิจะเป็นเรื่องยาก แต่คิดว่าทุกท่านก็คงอยากเห็นภูเขาฟูจิจากไกลๆ เมื่อเดินทางผ่านใกล้ๆ นะคะ

หากคุณวางแผนที่จะเดินทางระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่นโดยเครื่องบิน เราขอแนะนำให้ตรวจสอบเว็บไซต์ "ภูเขาฟูจิอยู่ฝั่งไหน? (富士yamaどっち?)" ของสายการบิน Japan Airlines (JAL) และเว็บไซต์ "เห็นภูเขาฟูจิได้จากฝั่งไหน? (富士山 どっち側で見られる?)" ของสายการบิน All Nippon Airways (ANA) ล่วงหน้าค่ะ คุณสามารถตรวจสอบได้ว่าสามารถมองเห็นภูเขาฟูจิได้จากหน้าต่างเครื่องบินฝั่งไหนในเว็บไซต์เหล่านี้ค่ะ (หน้าเว็บเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น)

นอกจากนี้ เมื่อเดินทางระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกด้วยรถไฟชินคันเซ็นสายโทไคโด คุณจะเห็นภูเขาฟูจิจากหน้าต่างด้านซ้ายของรถไฟขาขึ้นจากชินโอซาก้าไปยังโตเกียว และจากหน้าต่างทางด้านขวาของรถไฟขาลงจากโตเกียวไปยังชินโอซาก้าค่ะ ห้ามพลาดอ่านบทความด้านล่างนี้นะคะ มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการใช้บริการรถไฟชินคันเซ็นด้วยค่ะ!

แหล่งข้อมูล

ข้อมูลนี้มาจากบริษัท Fun Japan Communications จำกัด
อาจมีการปิดทำการ เปลี่ยนแปลงเวลาทำการ หรือระงับบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชั่วคราว เป็นต้น โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดเข้าดูที่เว็บไซต์อย่างเป็นทางการหรือสอบถามกับสำนักงานโดยตรง


คุณอาจชอบ